วันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

พระในพระพุทธศาสนา

สรุปพระภิกษุฝ่ายอรัญวาส ในพระพุทธศาสนา พระภิกษุ แบ่งออกได้เป็นสองฝ่าย คือ
o ฝ่ายปริยัติ ได้แก่ พระภิกษุ ที่มุ่งศึกษาศาสนธรรม จากตำราจากคัมภีร์ ส่วนมาก พำนักอยู่ที่วัด ในเมือง หรือชุมชน จึงเรียกว่า พระฝ่ายคามวาสี หรือพระบ้าน
o พระภิกษุอีกฝ่ายหนึ่ง มุ่งศึกษาโดยการกระทำ หรือลงมือปฏิบัติ และพำนักอยู่ ตามป่าตามเขา ที่สงบ สงัด สะดวกต่อการปฏิบัติ จึงเรียกว่า พระฝ่ายอรัญวาสี หรือ พระป่า หรือ พระธุดงคกรรมฐาน
พระภิกษุ ได้รับการยกย่อง นับถือว่า เป็นพระบุพพาจารย์ใหญ่ แห่ง กองทัพธรรมพระธุดงคกรรมฐาน ในประเทศไทย ได้แก่ท่านหลวงปู่มั่น ภูริทัตตตมหาเถร ผู้ได้บำเพ็ญความเพียรในขั้นเอกอุจนบรรลุ ถึงธรรมชั้นสูงสุด ดังมีหลักฐานปรากฎ คืออัฐิของท่านกลายเป็น พระธาตุดังที่มีบรรยาไว้ว่าเป็นลักษณะของพระอรหันตสาวก ซึ่ง ปัจจุบันได้นำมาประดิษฐาน ณ วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ท่านเป็นพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐานที่มีลูกศิษย์จำนวนมาก อาทิ

หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล จ.อุดรธานี
หลวงปู่ดุลย์ อตุโล วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร
หลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย
หลวงปู่สิม พุทธาจาโร วัดถ้ำผาปล่อง จ.เชียงใหม่
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี
หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย วัดเขาสุกิม จ. จันทบุรี
หลวงปู่วิริยังค์ สิรินธโร วัดธรรมมงคล กรุงเทพฯ เป็นต้น


พระคุณเจ้าทั้งหลายนี้ได้สืบต่อการปฏิบัติข้อวัตรตามแนวทางของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ในกาลต่อมาเมื่อศิษย์ในสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตหลายองค์ถึงแก่มรณภาพอัฐิของท่าน ก็ได้ แปรสภาพ ไปในทำนองเดียวกับ ของพระอาจารย์มั่น อาทิ อัฐิธาตุ ของหลวงปู่ขาว อนาลโย ของท่าน พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ประกอบกับ ความเค่งครัด ในวินัย และศีลาจารวัติ ได้เสริมสร้าง ศรัทธา ของ ประชาชน ในการปฏิบัติกรรมฐาน เพิ่มมากขึ้น และเป็นเหตุแห่ง การฟื้นฟู วัดป่า และชักจูงให้ มีผู้บวช เป็นพระป่า พระสายปฏิบัติกรรมฐาน เพิ่มมากขึ้น เช่นกัน

สำหรับ ผู้ที่เคยเข้าไป สัมผัสวัดป่า เป็นครั้งแรก ความรู้สึก ที่กระทบจิตใจ เมื่อย่างเข้า ถึงเขต วัดป่าคือ "ความร่มรื่น" ซึ่งเกิดจากต้นไม้น้อยใหญ่ภายในวัด สิ่งกระทบใจประการที่สอง คือ ความสะอาด และมีระเบียบ "ความสงบเงียบ" ไม่อึกทึกพลุกพล่าน ต้นไม้ ธรรมชาติ จะได้รับการรักษา ให้ยืนย คงอยู่

กุฏิเสนาสนะ ที่พำนักของพระป่า จะปลูกสร้าง อย่างเรียบง่าย สมถะ ด้วยวัสดุพื้น ๆ เว้นแต่ บางแห่ง ที่มีคณะศรัทธา ญาติโยม สร้างถวาย ก็อาจใช้วัสดุ หรือการก่อสร้าง ที่พิถีพิถัน แต่บางแห่ง ท่านก็ไม่ยอมให้สร้างใหญ่โต หรือพิถีพิถัน เกินไป เพราะแกรงว่า จะทำให้ พระ คุ้นกับความสบาย จน "ติดสุข" ไม่อยากออกไป เผชิญความลำบาก ในการออกเดินธุดงค์ ซึ่งเป็นภารกิจ ที่สำคัญ ของพระป่า

โดยทั่วไป ภายในกุฏิ ของพระป่า จะมีเพียงกลด พร้อมด้วยมุ้งกลด เสื่อ ปูนอน เครื่องอัฐบริขาร ผ้าห่มนอน จีวร ตะเกียง หรือเทียนไข และหนังสือ ที่หัวนอน อาจมีหิ้งพระ รูปพระอาจารย์ต่างๆ ส่วนของมีค่า อุปกรณ์ อำนวยความสะดวกสบายนั้น ท่านไม่สะสม กุฏิแต่ละหลัง ผู้พำนักอาศัย ต้องรักษา ให้สะอาด ทั้งในกุฏิ และบริเวณ

พวกชาวเมือง ที่ได้ไปเยือนวัดป่าครั้งแรก มักจะแปลกใจว่า นี่ท่านทำอย่างไร วัดจึงสะอาดฉะนี้ ทั้งๆ ที่ มีต้นไม้ เต็มไปหมด ทุกแห่ง ทางเดินของท่าน ก็โล่งเตียน ห้องน้ำ ก็สะอาด ศาลา ก็สะอาด คำตอบคือ พระป่า ท่านปฏิบัติ ตามพระวินัย ท่านต้องรักษา เสนาสนะ ที่อยู่อาศัย และบริเวณ ให้สะอาด ทุก ๆ วัน เวลาประมาณ บ่ายสามโมง เป็นเวลา ปัดกวาดลานวัด ซึ่งปกติท่าน สมภาร หรือ ประธานสงฆ์ ก็จะลงมือกวาด ด้วย ยกเว้น ก็แต่ ผู้อาพาธ เท่านั้น งานปัดกวาดนี้ ใช้แรงมาก เพราะ ไม้กวาดหนัก และด้ามยาวกว่า จะแล้วเสร็จ ก็เหงื่อท่วมตัว ซึ่งเท่ากับ เป็นการออกกำลังกาย ไปในตัว พระป่าท่าน เดินจงกรม เดินบิณฑบาต ทุกวัน ถูศาลา ทุกวัน และกวาดวัด ทุกวัน ท่านจึงแข็งแรง และสุขภาพดี

พระพุทธศาสนา เป็นตัวอย่าง ของประชาธิปไตย ตั้งแต่เริ่มเข้ามาบวช เป็นสมาชิกของวัด ก็ต้อง ผ่านการลงมติ ของคณะสงฆ์ เสียก่อน ข้าวของต่างๆ ที่มีผู้ถวายแก่วัด ย่อมเป็นของกลาง ใครจะ นำไป เป็นประโยชน์ ส่วนตัว ไม่ได้ ทุกคน มีส่วนที่จะ ได้รับประโยชน์ จากของสงฆ์ ถ้ามีการพิพาทกัน ก็ต้อง ตั้งกรรมการ พิจารณา เหล่านี้ เป็นตัวอย่าง ของประชาธิปไตย แต่เป็นแบบพุทธ คือ เป็นการสมัครใจ ไม่บังคับ ถ้าไม่พอใจ ก็ไปที่อื่นเสีย แล้วก็ยังมีคาราวะ มีอาวุโส มีบารมี มีกรรม มีวิบาก ไม่ใช่ทุกคน เท่ากันหมด อาหารที่บิณฑบาต มาได้ จะนำมารวมกันก่อน แล้วจึงแจกไป ให้ทั่วถึง

พระป่า ท่านมีคติ อีกอย่างหนึ่ง คือ ไม่ว่าวันไหน จะบิณฑบาต ได้ภัตตาหาร มากน้อย เท่าใด ต้อง ฉันแต่น้อย แต่พอดี แม้จะมีอาหาร ล้นเหลือ ก็จะไม่ฉัน จนอิ่มตื้อ เพราะ ถ้าทำเช่นนั้น จะง่วง ภาวนา ไม่ได้ นอกจาก ระวังไม่ฉันมากแล้ว พระป่า ท่านยังระวัง ไม่ให้ติด รสอาหาร ด้วย โดยการหลีกเลี่ยง อาหารที่อร่อย ทั้งนี้ เพราะเกรงว่าจะ "ติดสุข" นั่นเอง ในเวลาฉัน ต้องพิจารณา ตามแบบ ที่พระพุทธเจ้า ทรงสอน พูดง่าย ๆ คือว่า กินเพื่ออยู่ เพื่อประทังชีวิต ประทังความหิว ท่านจึงเงียบสงบ ระหว่างฉัน ไม่สนทนาพาที อะไรกัน เพราะท่านต้อง พิจารณาอาหาร ไปด้วย

กิจวัตร ของพระป่า คือ ตื่นนอน ตั้งแต่ตีสาม หรือตีสี่ เพื่อปฏิบัติภาวนา สวดมนต์ ทำวัตรเช้า ทำกิจส่วนตัว แล้วเตรียมตัว ออกบิณฑบาต ครั้นรุ่งอรุณ พระป่า จากอรัญญวาสี จะออกบิณฑบาต เป็นแถว เป็นแนว เป็นระเบียบ

บรรยากาศ ยามรุ่งอรุณ กลิ่นไอธรรมชาติ ความบริสุทธิ์ ของชนบท ดวงหน้า ที่เอิบอิ่มใน บุญกุศล ของชาวบ้าน เป็นภาพชีวิต อันประทับใจ ผู้ได้สัมผัส พระป่าจะต้อง ออกบิณฑบาต ทุกวัน นอกจาก อาพาธ หรือเดินไม่ได้ ตามปกติ วัดป่า ต้องอยู่ ห่างหมู่บ้าน เพื่อให้พ้นจาก การรบกวน คน สัตว์ และ เสียงอึกทึก แต่ต้องไม่ไกล เกินไป จนเดินไปบิณฑบาต ไม่ไหว โดยมาก เว้นระยะห่าง จากหมู่บ้าน ประมาณ 2-3 กิโลเมตร ซึ่งพอจะเดินไปกลับ ได้ภายใน หนึ่งชั่วโมง

ารอบรม พระป่า ตามวัดต่างๆ ในสายท่าน พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต จะอาศัยหลัก อย่างเดียวกัน แต่การปฏิบัติ แตกต่างกันไป ตามความเห็น และความถนัด ของท่านอาจารย์ ทุกวัด มีการเน้นเรื่อง ศีล พระป่า ทุกองค์ จะต้องรักษาศีล อย่างบริสุทธิ์

ในการะบวนไตรสิกขา ศีลเป็นข้อที่ ง่ายที่สุด และเท่ากับ เป็นเครื่องทดสอบ พระภิกษุ เพราะ การรักษาศีล ต้องการเพียง ความตั้งใจ เท่านั้น ถ้าผู้ใด รักษาศีล ให้บริสุทธิ์ ไม่ได้ ผู้นั้น ก็ไม่มีหวัง ที่จะก้าวหน้า ไปถึงธรรมชั้นสูง ศีลเป็นเครื่องรองรับ หรือเป็นฐาน ของสมาธิ ทำให้สมาธิ เกิดง่าย และตั้งอยู่ โดยมั่นคง ศีลต้องดีก่อน สมาธิ จึงจะดีได้

นอกจากนั้น ในการออกธุดงค์ แสวงหา ที่สัปปายะ สำหรับอบรมจิต จะต้องฝ่าอันตราย ต่าง ๆ นานา พระธุดงคกรรมฐาน หรือพระป่า ท่านมีความเชื่อมั่นว่า ศีลที่บริสุทธิ์ จะเป็นเกราะกำบัง ที่ดีที่สุด พระอาจารย์ชั้นผู้ใหญ่ แต่ละองค์ มีประวัติ บุกป่าฝ่าดง ไปในแดนสัตว์ร้าย เช่น เสือ ช้าง และงู ทนแดด ทนฝน ทนลมหนาว ต้องผจญกับ มนุษย์ ที่ถูกอวิชชาครอบงำ…. แต่เพราะท่าน รักษาศีลบริสุทธิ์ สัตว์ร้าย หรือคนร้าย ตลอดจน สภาวอากาศ ที่แปรปรวน ก็ไม่อาจ ทำอันตรายท่านได้ เพราะฉะนั้น พระป่า ที่จะออกธุดงค์ จะต้องแน่ใจว่า ศีลของท่าน บริสุทธิ์จริง ๆ เพื่อให้มั่นใจ ในข้อนี้ และแน่ใจว่า จะไม่พลั้งเผลอ ท่านจึงรักษาศีล ให้บริสุทธิ์อยู่ เสมอ

ในวัดป่า จะมีการไหว้พระ สวดมนต์ร่วมกัน การสวดมนต์ มีผลให้ใจสงบลง เป็นการเตรียม สำหรับ การภาวนาต่อไป ตามปกติ เมื่อฉันเสร็จ จัดการชำระล้าง ทำความสะอาด บาตร เรียบร้อยแล้ว พระป่า ท่านจะกลับกุฏิ มาลงมือภาวนา ส่วนมาก มักจะเริ่มด้วยการ เดินจงกรม เพื่อแก้อาการง่วง ซึ่งอาจเกิดขึ้น ภายหลังฉันอาหาร ใกล้ ๆ กับกุฏิ ทุกหลัง จะมีลานเดินจงกรม กว้างประมาณ 1 เมตร ยาวประมาณ 10-15 เมตร ระหว่างเดิน อาจบริกรรมภาวนา หรือพิจารณา เกี่ยวกับสังขาร ร่างกาย จุดประสงค์ เพื่อให้เกิดความสงบ เกิดสมาธิ หรือปัญญา เมื่อหยุดเดิน ก็เข้าที่นั่งภาวนา พอเมื่อย หรือ ง่วง ก็ออกมาเดินอีก สลับกันไป ในการภาวนา พระป่า สายท่าน พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล และ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต จะใช้บริกรรม "พุทโธ" รวมกับอานาปานสติ เช่น หายใจเข้านึก พุท หายใจออกนึก โธ หายใจเข้านึก พุท หายใจออกนึก โธ ซึ่งวิธีเหล่านี้ ใช้กันโดยทั่วๆ ไป

ครูบาอาจารย์ จะคอยติดตาม การดำเนินของการปฏิบัติ อยู่เสมอ โดยการซักถาม ปรากฎการณ์ ทางจิต ของศิษย์ จึงสามารถ ดัดแปลงแก้ไข การปฏิบัติ ให้เหมาะสม กับภาวะ ของแต่ละคน ช่วยให้ได้ ผลดีขึ้น ไปเรื่อย ๆ ถ้าหากมีอะไร แทรกแซงขึ้นมา เช่น นิมิตเห็น ภูตผีปีศาจ หรือยักษ์ เห็นมาร อาจารย์ ก็จะชี้แจง ให้ทราบความหมาย ของนิมิตนั้น ๆ และบอกวิธี ที่จะป้องกัน ไม่ให้เกิดขึ้น ต่อไป หลักสำคัญ ประการหนึ่ง ซึ่งท่านอาจารย์ ในสายของท่าน พระอาจารย์มั่น เน้นอยู่เสมอ คือ
"ธรรมะทั้งหลาย อยู่ภายในกาย ของเราเอง"
ในการพิจารณา ให้ส่งจิต เข้าภายในกาย ไม่ให้ส่งออก ไปภายนอก เพราะนอกจาก จะไม่ได้ ประโยชน์แล้ว ยังจะเกิดการล่องลอย ของจิตอีกด้วย การแสดงธรรมของ พระป่า ไม่มีพิธีรีตองอะไร มากนัก แต่จะเน้นที่ เนื้อหาสาระ ใช้ภาษา สำนวน ที่ฟังง่าย เข้าใจง่าย ตรงไปตรงมา

การอบรมจิต แนะนำ การเจริญภาวนา วิปัสสนากรรมฐาน เป็นภาระกิจ ที่ครูอาจารย์ จะต้องให้การ อบรม แนะนำแก่ศิษย์ ทั้งที่เป็นพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา และชาวบ้านทั่วไป

ปฏิปทาศีลาจารวัตร ของครูบาอาจารย์ใหญ่ พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และสานุศิษย์ของท่าน อีกหลายองค์ เป็นประทีปนำทาง ให้พระป่า มีความวิริยะ อุตสาหะ ในการบำเพ็ญ ความเพียร เพราะเห็นแสงสว่าง ข้างหน้า ขอเพียงให้เดินโดยถูกทาง ถูกวิธี ไม่ย้อท้อ ต่อความยากแค้น และอุปสรรคทั้งมวล

พระป่า พระธุดงค์กรรมฐาน เป็นผู้ชูธงชัย แห่งกองทัพธรรม ของพระพุทธองค์ เป็นผู้ วีรอาจหาญ เป็นนักรบ ที่จะสู้ กับกิเลสตันหา ความดิ้นรน ทะยานอยาก เพื่อมุ่งสู่จุดหมาย คือ มรรคผล นิพพาน ตามรอยพระยุคลบาท พระบรมศาสดา สัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้รู้. ผู้ตื่น. ผู้เบิกบาน.

ธุดงควัตร 13

1. ถือการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร
2. ถือการนุ่งห่มผ้าสามผืนเป็นวัตร
3. ถือการบิณฑบาตเป็นวัตร
4. ถือการบิณฑบาตไปโดยลำดับแถวเป็นวัตร
5. ถือการฉันจังหันมื้อเดียวเป็นวัตร
6. ถือการฉันในภาชนะเดียวคือฉันในบาตรเป็นวัตร
7. ถือการห้ามภัตตาหารที่เขานำมาถวายภายหลังเป็นวัตร
8. ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร
9. ถือการอยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร
10. ถือการอยู่อัพโภกาสที่แจ้งเป็นวัตร
11. ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร
12. ถือการอยู่ในเสนาสนะตามมีตามได้เป็นวัตร
13. ถือเนสัชชิกังคธุดงค์ คือการไม่นอนเป็นวัตร
การถือธุดงคบำเพ็ญได้ด้วยการสมาทานคือด้วยอฐิษฐานใจ หรือแม้นด้วยการเปล่งวาจา คุณประโยชน์ของธุดงควัตร คือ การยังชีพโดยบริสุทธิ์ มีผลเป็นสุข เป็นของไม่มีโทษ บำบัดความทุกข์ของผู้อื่นเสีย เป็นของไม่มีภัย เป็นของไม่เบียดเบียน มีแต่เจริญฝ่ายเดียว ไม่เป็นเหตุให้เสื่อม ไม่มีมารยาหลอกลวงไม่ขุ่นมัว เป็นเครื่องป้องกัน เป็นเหตุให้สำเร็จสิ่งที่ปรารถนา กำจัดเสียซึ่งศัสตราทั้งปวง มีประโยชน์ในทางสำรวมเป็นเครื่องสมควรแก่สมณะ ทำให้สงบยิ่ง เป็นเหตุให้หลุดพ้น เป็นเหตุให้สิ้นราคะ เป็นการระงับเสียซึ่งโทสะทำโมหะให้ พินาศไปเป็นการกำจัดเสีย ซึ่งมานะ เป็นการตัดเสีย ซึ่งวิตกชั่ว ทำให้ข้ามความสงสัยได้ กำจัดเสียซึ่งความเกียจคร้าน กำจัดเสีย ซึ่งความไม่ยินดีในธรรม เป็นเหตุให้มีความอดทน เป็นของชั่งไม่ได้เป็นของหาประมาณมิได้ และทำให้สิ้นทุกข์ทั้งปวง

อานิสงส์ การปฏิบัติธุดงควัตร ทำให้พระป่าที่จาริกไป ตามป่าเขา พำนักตามโคนไม้ เพิงผาและ ตามถ้ำเป็นอยู่อย่างสมถะ เสียสละ ลดละอุปโภคบริโภค ทำให้จิตของท่าน เป็นอิสระพ้นจาก พันธนาการเครื่องร้อยรัดขัดขวาง สู่ความเบาสบาย สงบเอื้อต่อการเจริญสมาธิภาวนา บำเพ็ญความเพียร การท่องไป ในป่าที่ดารดาษ ไปด้วยสิงสาราสัตว์ ภัยอันตราย เป็นการฝึกจิต หลอมใจ ให้เข้มแข็ง มีสติระลึกรู้ มีบทบริกรรม พุทโธ อยู่กับสายลมหายใจ การเจริญสติ ก่อให้เกิดสมาธิ และจิตตานุภาพ พระธุดงคกรรมฐาน สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตจะผ่านการประหารกิเลส ด้วยธุดงควัตร จิตของพระคุณเจ้า จึงมั่นคง เข้มแข็งด้วย ศีลสมาธิปัญญาศรัทธาความเพียร

พระป่า สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ผู้มอบกายถวายชีวิต ในพระพุทธศาสนา ดำเนิน เดินตามทางรอยธรรม พ่อแม่ครูอาจารย์ ธุดงคจาริกไป ตามวนาป่าเขา เพื่อผลานิสงส์ ในการเพิ่มพูน บารมีธรรมแห่งพระบรมศาสดา สัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อมรรคผล นิพพาน เพื่อสงเคราะห์โลก แลสรรพสัตว์ เป็นเนื้อนาบุญของพระพุทธศาสนา เป็นขุนพลกล้า แห่งกองทัพธรรมพระกรรมฐาน ที่มีคุณูปการ อเนกอนันต์ ตราบนิรันดร์สมัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น