วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

วันเข้าพรรษา 2554 ประวัติวันเข้าพรรษา วันเข้าพรรษามีความสำคัญอย่างไร


                        วันเข้าพรรษา 2554 ประวัติวันเข้าพรรษา วันเข้าพรรษามีความสำคัญอย่างไร
16 กรกฏาคม 2554 นี้เชิญชวนทุกท่านปฏิบัติตนเป็นคนใหม่ ทำบุญ ถือศีล และเจริญภาวนา

เข้าถึงพระนิพพาน

คนที่ปฏิบัติเพื่อพระนิพพานจะใคร่ครวญอย่างไรจึงจะง่ายที่สุด สั้นที่สุดพระพุทธเจ้าข้า ?
"เจ้าจงใคร่ครวญอย่างนี้ จงคิดว่าเราเป็นผู้ไม่มีอะไรเลย ทรัพย์สินก็ไม่มี ญาติ เพื่อน ลูกหลาน เหลนก็ไม่มี เพราะทุกอย่างที่กล่าวมามีสภาพพังหมด เราจะทำกิจที่ต้องทำตามหน้าที่ เมื่อสิ้นภาระ คือ ร่างกายพังแล้ว เราจะไปนิพพาน เมื่อความป่วยไข้ปรากฎ จงดีใจว่าภาวะที่เราจะมีโอกาสเข้าสู่พระนิพพานมาถึงแล้ว เราสิ้นทุกข์แล้ว ร่างกายเป็นเพียงเศษธุลีที่เหม็นเน่า มีความสกปรกโสโครก ทรุดโทรม เดินไปหาความเสื่อม
แตกสลายทุกขณะ คิดไว้อย่างนี้ทุกวัน จิตจะชิน จะเห็นเหตุผล เมื่อตาย อารมณ์จะสบาย แล้วจะเข้าสู่พระนิพพานได้ทันทีพระพุทธองค์ทรงสอนต่อไปว่า ให้ลูกหลานของเธอทุกคน หรือ บริษัทของเธอทุกคน เขาตั้งใจอย่างที่ฉันพูดนะ
การไปสวรรค์ก็ดี ไปพรหมโลกก็ดี ไปนิพพานก็ดีเป็นของง่าย ไม่ใช่ของยากแบบที่นักปราชญ์ในโลกเขาพูดกันเวลานี้ เวลานี้นักปราชญ์ทั้งหลายนิยมความยาก สิ่งไหนก็ตามที่มันยาก เขาถือว่าดี เป็นแบบฉบับที่ถูกต้อง แต่ว่าฉันเห็นว่านั่นไม่ถูกต้อง ถ้าตามคติของฉัน ฉันว่าไม่ถูก เพราะสอนคนหรือพูดให้คนเข้าใจง่ายที่สุด และได้ผลมากที่สุด อันนี้ดีกว่า ดีกว่าหาวิธีที่ยากที่สุด แล้วได้ผลน้อยที่สุด อย่างนี้ไม่ดี ไม่ใช่ความประสงค์ของฉัน สัมภเกสี(ชื่อของหลวงพ่อพระราชพรหมยานที่พระพุทธองค์ทรงเรียก) เตือนบริษัทและลูกหลานของเธออย่างนี้นะ ว่าให้ทุกคนรู้ตัวแล้วว่ามีวิมานอยู่บนชั้นกามาวจร เมื่อถึงเวลาเขาทำชั่วอะไรมาก็ช่างเถอะ เวลาก่อนนอนให้นึกถึงความดีที่ทำไว้ ขึ้นชื่อว่าความชั่วทั้งหลายปล่อยมันไปนึกถึงแต่ความดี แล้วเอาใจนี้จับไว้ว่านี่เรามีวิมานแก้ว 7 ประการไว้บนสวรรค์ชั้นกามาวจร จากทำบุญ วิหารทาน สังฆทาน และธรรมทาน เมื่อเวลาที่เราตาย เราจะไปอยู่วิมานนั้น ถ้าเวลาป่วยไข้ไม่สบาย ไม่ต้องเอาอะไร นึกถึงคุณพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จะนึกถึงพระพุทธก็ได้ พระสงฆ์ก็ได้ สิ่งก่อสร้างก็ได้ อย่างใดอย่างหนึ่งไว้ในใจ แล้วตั้งใจว่าเราจะไปอยู่วิมานของเราที่มีอยู่แล้ว เพียงเท่านี้นะ ถ้าเขาตาย เขาจะถึงสวรรค์ชั้นกามาวจรทันที

บรรลุโสดาบัน

ท่านสาธุชน พุทธบริษัททั้งหลาย สำหรับคืนนี้ก็มาเริ่มปฏิบัติเนื่องในโสดาปัตติมรรค หรือว่า ปฏิบัติเพื่อพระโสดาบันปัตติมรรค การเจริญพระกรรมฐานนี่ พระพุทธเจ้ามีความต้องการให้ผู้ปฏิบัติทุกท่านเข้าถึงพระอริยมรรค พระอริยผล ถ้าเราจะปฏิบัติกันอย่างเลื่อนลอยก็มีความสุขเหมือนกัน แต่มีความสุขไม่จริง ที่จะปฏิบัติให้มีความสุขจริง ๆ ก็จะต้องมีจุดใดจุดหนึ่งเป็นเครื่องเข้าถึงจึงจะใช้ได้ ในอันดับแรกนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงต้องการผลอันดับต้น คือ ได้พระโสดาบันปัตติมรรคหรือพระโสดาปัตติผล หรือที่เราเรียกกันว่า พระโสดาบัน ก่อนที่ท่านทั้งหลายจะศึกษาอย่างอื่น ก็โปรดทราบว่า สำหรับพระโสดาบันนี้ละสังโยชน์ได้ ๓ ประการ คือ๑. สักกายทิฏฐิ ตัวนี้มีปัญญาเพียงเล็กน้อย เพียงแค่มีความรู้สึกว่าเราจะต้องตายเท่านั้น เป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต คิดอยู่เสมอว่าความตายเป็นธรรมดาของชีวิต เราไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงความตายให้พ้นได้ และความตายนี้ จะปรากฏขึ้นกับเราเมื่อไรก็ไม่แน่นอนนัก และเชื่อว่า ตายเช้า ตายสาย ตายบ่าย ตายเที่ยง ตายกลางคืน ตายกลางวัน อย่างนี้ก็ไม่มีความแน่นอน
เพราะว่าความตายไม่มีนิมิต ความตายไม่มีเครื่องหมาย แต่ถึงอย่างไรก็ดี เราก็ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงให้พ้นจากความตายไปได้ นี่สำหรับข้อแรก

สักกายทิฏฐิ ที่เห็นว่าร่างกายก็คือ ขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เรานิยมเรียกกันว่า ร่างกาย
พระโสดาบันมีความรู้สึกว่ามีปัญญาเพียงเล็กน้อย รู้แค่ตายเท่านั้น ยังไม่สามารถจะจำแนกแยกร่างกายว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราได้ ความรู้สึกของพระโสดาบันยังมีความรู้สึกว่าร่างกายเป็นเรา เป็นของเรา ทรัพย์สินทั้งหลายยังเป็นเรา เป็นของเรา
แต่ทว่ามีความรู้สึกว่า สิ่งทั้งหลายที่เป็นของเรานี้ทั้งหมด เมื่อเราตายแล้วเราก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะเข้ามาครอบครอง หรือถ้าว่าเรายังไม่ตาย สักวันหนึ่งข้างหน้ามันก็ต้องสลายตัวไป เนื่องในข้อว่า สักกายทิฏฐิ พระโสดาบันคิดได้เพียงเท่านี้ ยังไม่สามารถจะแยกกายทิ้งไปได้ทันทีทันใด องค์สมเด็จพระจอมไตรจึงกล่าวว่า พระโสดาบันมีปัญญาเพียงเล็กน้อย

ในข้อที่ ๒. วิจิกิจฉา พระโสดาบันไม่สงสัยในคำสั่งและคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
คำว่า คำสั่ง ก็ได้แก่ ศีล
คำสอน ก็ได้แก่ จริยาอันหนึ่งที่เราเรียกกันว่า ธรรมะ เป็นความประพฤติดีประพฤติชอบ
ศีล พระพุทธเจ้าสั่งให้ละ หมายความว่า ละตามสิกขาบทที่กำหนดไว้ให้ คำสอนทรงแนะนำว่า จงทำอย่างนี้จะมีความสุข อีกทั้งคำสั่งก็ดี ทั้งคำสอนก็ดี พระโสดาบันมีความเชื่อมั่นในคุณพระรัตนตรัย คือ เชื่อพระพุทธเจ้า ในการเชื่อก็ใช้ปัญญาพิจารณาก่อน ไม่ใช่สักแต่ว่าเชื่อ
นี่สำหรับสังโยชน์ข้อที่ ๓. สัลัพพตปรามาส เพราะอาศัยที่พระโสดาบันมีความเคารพในพระพุทธเจ้า มีความเคารพในพระธรรม มีความเคารพในพระสงฆ์ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแนะนำบรรดาพระสงฆ์ว่า จงนำธรรมะนี้ไปสอน พระสงฆ์ก็ไปสอน พระโสดาบันใช้ปัญญาเล็กน้อยมีความเข้าใจดี ยินยอมรับนับถือคำสั่งและคำสอนขององค์สมเด็จพระชินสีห์ ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสมา แล้วพระสงฆ์นำมาแสดง

อาศัยมีศรัทธาในพระรัตนตรัยทั้ง ๓ ประการนี้ พระโสดาบันจึงเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ เป็นอันว่า พระโสดาบัน ถ้าเราจะไปพิจารณากันจริง ๆ ก็ไม่เห็นมีอะไรสำคัญ มีสภาวะเหมือนชาวบ้านชั้นดีนั่นเอง ทีนี้เราจะกล่าวถึง องค์ของพระโสดาบัน ท่านที่เป็นพระโสดาบันจริง ๆ นั้น มีอารมณ์ใจ คำว่า "องค์" นี่หมายความว่า อารมณ์ที่ฝังอยู่ในใจ อารมณ์ใจของพระโสดาบันจริง ๆ ก็คือ
๑. มีความเคารพในพระพุทธเจ้า
๒. มีความเคารพในพระธรรม
๓. มีความเคารพในพระสงฆ์
๔. มีศีล ๕ บริสุทธิ์
อันนี้ก็ตรงกับพระบาลี ที่องค์สมเด็จพระชินสีห์ตรัสว่า พระโสดาบันกับพระสกิทาคามี เป็นผู้มีอธิศีล
สำหรับกิเลสส่วนอื่นจะเห็นได้ว่า พระโสดาบันยังมีกิเลสทุกอย่าง ตามที่เรากล่าวกันคือ : -
โลภะ ความโลภ
ราคะ ความรัก
โทสะ ความโกรธ
โมหะ ความหลง
จะว่ารักก็รัก อยากรวยก็อยากรวย โกรธก็โกรธ หลงก็หลง แต่ไม่ลืมความตาย คำที่ว่าหลงก็เพราะว่า พระโสดาบันยังต้องการความร่ำรวยด้วยสัมมาอาชีวะ พระโสดาบันยังต้องการความสวยสดงดงาม ต้องการมีคู่ครอง
อย่าง นางวิสาขามหาอุบาสิกาก็ดี ภรรยาของพระกุกกุฏมิตรก็ดี ทั้งสองท่านนี้เป็นพระโสดาบันตั้งแต่อายุ ๗ ปี แต่ในที่สุด ท่านก็แต่งงานมีเครื่องประดับประดาสวยงาม เป็นอันว่ากิเลสที่เราต้องการกัน เนื่องจากการครองคู่ระหว่างเพศ พระโสดาบันยังมี และก็ยังมีครบถ้วน เพราะว่าอยู่ในขอบเขตของศีล
ไม่ทำกาเมสุมิจฉาจาร ไม่ละเมิดความรักของบุคคลอื่น
ไม่ทำให้ผิดประเพณีหรือกฎหมายของบ้านเมือง และเป็นไปตามศีลทุกอย่าง คือ รักอยู่ในคู่ผัวตัวเมียตามปกติ
นี่ขอบเขตของพระโสดาบันมีเท่านี้ มีความต้องการรวยด้วยสัมมาอาชีวะ พระโสดาบันยังประกอบอาชีพ แต่ไม่คดไม่โกง ไม่ยื้อไม่แย่งใครเท่านั้น หามาได้แม้จะร่ำรวยแสนจะร่ำรวยก็ได้มาด้วยคามบริสุทธิ์ ไม่คดไม่โกงเขา พระโสดาบันยังมีความโกรธ ไอ้โกรธน่ะโกรธได้ แต่ว่าพระโสดาบันยังไม่ฆ่าใคร เกรงว่าศีลจะขาด
พระโสดาบันยังมีความหลง แต่หลงไม่เลยความตาย ยังมีความรู้สึกอยู่ว่าต้องการชีวิต ชีวิตของเรามีอยู่ ต้องการทำประโยชน์ให้เกิดขึ้น ยังไง ๆ เราก็ตายแน่ การที่จะหลีกเลี่ยงให้พ้นจากความตายไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้
เป็นอันว่าถ้าเราพิจารณากันจริง ๆ ความเป็นพระโสดาบันนี่รู้สึกว่าไม่ยาก

การทำบุญ 10 อย่าง

ในทางพระพุทธศาสนา  การทำบุญมีด้วยกัน 10 วิธี  เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ 10” หรือ สิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ 10 ประการ ได้แก่
1. ให้ทาน หรือ ทานมัย อัน หมายถึง การให้ การสละ หรือการเผื่อแผ่แบ่งปัน ไม่ว่าจะเป็นเงินทอง ข้าวของเครื่องใช้หรือสิ่งอื่นใด และไม่ว่าจะให้แก่ใครก็ถือเป็นบุญทั้งสิ้น  เพราะการให้ทานเป็นการลดความเห็นแก่ตัว ความตระหนี่ถี่เหนียว และความคับแคบในจิตใจให้น้อยลง ทำให้เราไม่ยึดติดในวัตถุสิ่งของ อีกทั้งสิ่งที่เราบริจาคหรือให้ทานแก่ผู้อื่นก็จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อน และเป็นประโยชน์ต่อผู้รับ และสังคมโดยส่วนรวม การให้ทานนี้อยู่ที่ไหนๆ ก็ทำได้ และไม่จำเป็นต้องเงิน  เช่น การแบ่งของกินให้กับแม่บ้านที่ทำงาน หรือยาม เป็นต้น ข้อสำคัญ สิ่งที่บริจาคหรือให้ทานแก่ผู้อื่น ควรเป็นสิ่งยังใช้ได้ มิใช่เป็นการกำจัดของเหลือใช้ที่หมดอายุ หมดคุณภาพให้ผู้อื่น  ผลการให้ทานดังกล่าวจะทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดความปีติอิ่มเอิบใจ

2. รักษาศีล หรือ สีลมัย  คำว่า ศีล หมายถึง ข้อบัญญัติทางพระพุทธศาสนา ที่กำหนดการปฏิบัติทางกายและวาจา  เช่น ศีล ศีล 8 หรืออาจจะหมายถึงการรักษากายวาจาให้เรียบร้อย การรักษาศีล เป็นการฝึกฝนมิให้ไปเบียดเบียนผู้อื่น ในขณะเดียวกันก็เป็นการลด ละ เลิกความชั่ว  มุ่งให้กระทำความดี อันเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต มิให้ตกต่ำลง  เช่น ไม่ไปเป็นชู้เป็นกิ๊กกับใครที่ทำงาน ทำให้ครอบครัวเขาไม่แตกแยก  เป็นแม่ค้าไม่โกหกหลอกขายของไม่ดีแก่ลูกค้า  เป็นพ่อบ้านไม่กินเหล้าเมายา ทำให้ลูกเมียมีความสุข เพื่อนบ้านก็สุข เพราะไม่ต้องทนฟังเสียงรบกวน จากการทะเลาะวิวาทกัน เหล่านี้ล้วนเป็นการรักษาศีล และเป็นหนึ่งในการทำบุญอีกรูปแบบหนึ่ง  ซึ่งผลบุญข้อนี้จะทำให้เรากลายเป็นคนเยือกเย็น  สุขุมด้วย
3. เจริญภาวนา หรือภาวนามัย เป็นการทำบุญอีกรูปแบบ ที่มุ่งพัฒนาจิตใจและปัญญา ทำให้จิตใจสงบ เห็นคุณค่าสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง ซึ่งในข้อนี้หลายคนอาจจะทำเป็นประจำอยู่แล้ว เช่น นั่งสมาธิ วิปัสสนา แต่หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องยากเกินกำลัง ดังนั้น อาจจะทำง่ายๆ ด้วยวิธีการสวดมนต์เป็นคาถาสั้นๆ บูชาพระที่เราเคารพบูชาก่อนนอนทุกคืน เช่น คาถาพระพุทธเจ้าชนะมาร คาถาหลวงปู่ทวด เป็นต้น การสวดมนต์เป็นประจำ อย่างน้อยก็เป็นการน้อมนำจิตใจของเรา ไปสู่สิ่งที่เป็นมงคลในชีวิต เป็นการเตือนสติให้เรายึดมั่นในการประพฤติปฏิบัติชอบ ตามสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เรานับถือ และผลบุญข้อนี้จะทำให้เกิดปัญญาแก่ผู้ปฏิบัติ
4. การอ่อนน้อมถ่อมตน หรือ อปจายนมัย หลายคนคงคิดไม่ถึงว่า การประพฤติตนเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน จะถือเป็นบุญอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ ก็เพราะว่าการอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ว่าจะเป็นผู้น้อยประพฤติต่อผู้ใหญ่  และการที่ผู้ใหญ่แสดงตอบด้วยความเมตตา หรือการอ่อนน้อมต่อผู้มีคุณธรรม รวมถึงการให้เกียรติ ให้ความเคารพต่อความคิด ความเชื่อ และวิถีปฏิบัติของบุคคล หรือสังคมอื่นที่แตกต่างจากเรานั้น เป็นการลดความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตนของเรา ช่วยให้สังคมทุกระดับเกิดความเข้าใจต่อกัน และช่วยให้ชาติบ้านเมืองเกิดความสงบสุข จึงถือเป็นบุญอย่างหนึ่ง ผลบุญข้อนี้จะทำให้เกิดความเมตตาต่อกัน
5. การช่วยขวนขวายทำในกิจที่ชอบ หรือไวยาวัจจมัย พูดง่ายๆ ว่า เป็นการให้ความช่วยเหลือแก่สังคมรอบข้าง ในการทำกิจกรรมความดีต่างๆ เช่น ช่วยพ่อแม่ค้าขายไม่นิ่งดูดาย ช่วยสอดส่องดูแลบ้านให้เพื่อนบ้าน ยามที่เขาต้องไปธุระต่างจังหวัด ช่วยงานเพื่อนที่ทำงานให้แล้วเสร็จทันเวลา ให้กำลังใจแก่เพื่อนที่มีความทุกข์ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นบุญอีกแบบหนึ่ง และผลบุญในข้อนี้ก็จะช่วยให้เกิดความรักความสามัคคีขึ้นด้วย
6. การให้ผู้อื่นมาร่วมทำบุญกับเรา หรือ ปัตติทานมัย กล่าวคือ ไม่ว่าจะทำบุญอะไร ก็เปิดโอกาสให้คนอื่นได้มาร่วมทำบุญด้วย ไม่ขี้เหนียว หรืองกบุญเพราะอยากได้บุญใหญ่ไว้คนเดียว เช่น จะทำบุญสร้างระฆัง ก็ให้คนอื่นได้ร่วมสร้างด้วย ไม่คิดจะทำเพียงคนเดียว เพราะคิดว่าทำบุญระฆัง จะได้กุศลกลายเป็นคนเด่นคนดัง เลยอยากดังเดี่ยว ไม่อยากให้ใครมาร่วมด้วย เป็นต้น นอกจากนี้ การเปิดโอกาสให้คนอื่นมาร่วมทำงาน  ร่วมแสดงความคิดเห็น รวมไปถึงการทำบุญ อุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว ก็ถือเป็นการทำบุญในข้อนี้ด้วย ผลบุญดังกล่าว จะช่วยให้เราเป็นคนใจกว้าง และปราศจากอคติต่างๆ เพราะพร้อมเปิดใจรับผู้อื่น
 
7. การอนุโมทนาส่วนบุญ
หรือ ปัตตานุโมทนามัย คือ การยอมรับหรือยินดีในการทำความดีหรือทำบุญของผู้อื่น  เมื่อใครไปทำบุญมาก็รู้สึกชื่นชมยินดีไปด้วย โดยไม่คิดอิจฉาหรือระแวงสงสัยในการทำความดีของผู้อื่น เช่น เพื่อนเดินทางไปสักการะสังเวชนียสถานมา ก็ร่วมอนุโมทนา ที่เขามีโอกาสได้ไปทำบุญ ในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ไม่อิจฉาเขา แม้เราไม่ได้ไป ก็อย่าไปคิดอกุศลว่า เขาได้ไปเพราะชู้รักออกเงินให้ เป็นต้น  การไม่คิดในแง่ร้าย จะทำให้เรามีจิตใจไม่เศร้าหมอง แต่จะแช่มชื่นอยู่เสมอ เพราะได้ยินดีกับกุศลผลบุญต่างๆ อยู่ตลอดเวลา แม้จะมิได้ทำเองโดยตรงก็ตาม
 
8. การฟังธรรม หรือ ธรรมสวนมัย การฟังธรรม จะทำให้เราได้ฟังเรื่องที่ดี มีประโยชน์ทั้งต่อสติปัญญา และการดำเนินชีวิต  ซึ่งการฟังธรรมนี้ ไม่จำเป็นต้องไปฟังที่วัด หรือจากพระท่านโดยตรง แต่อาจจะฟังจากเทป ซีดี หรือเป็นการฟังจากผู้รู้ต่างๆ และธรรมในที่นี้ ก็มิได้หมายถึงแต่เฉพาะหลักธรรม ในทางศาสนาเท่านั้น  แต่ยังหมายรวมไปถึงเรื่องจริง เรื่องดีๆ ที่ทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้และปัญญา ผลบุญข้อนี้จะทำให้ผู้ฟังเกิดการรู้แจ้งเห็นจริงยิ่งขึ้น

9. การแสดงธรรม หรือ ธรรมเทศนามัย คือการให้ธรรมะหรือข้อคิดที่ดีๆ แก่ผู้อื่น ด้วยการนำธรรมะหรือเรื่องดีๆ ที่เป็นประโยชน์ไปบอกต่อ หรือให้คำแนะนำให้เขาได้รู้จักวิธีการดำเนินชีวิตที่ดี เช่น สอนวิธีการทำงานให้  แนะหลักธรรมที่ดีที่เราได้ยินได้ฟังมา และปฏิบัติได้ผลแก่เพื่อนๆ  เป็นต้น ผลบุญในข้อนี้ นอกจากจะทำให้ผู้อื่นได้รับรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์แล้ว ยังทำให้ผู้บอกกล่าวได้รับการยกย่องสรรเสริญอีกด้วย
10. การทำความเห็นให้ถูกต้อง เหมาะสม หรือ ทิฏฐุชุกรรม คือ การไม่ถือทิฐิ  เอาแต่ความคิดเห็นของตนเป็นใหญ่  แต่ให้รู้จักแก้ไข ปรับปรุงพัฒนาความคิดเห็น และความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ให้ถูกต้องตามธรรมอยู่เสมอ  หรือจะพูดง่ายๆ ว่า ให้คิดและประพฤติตนให้ถูกต้อง ตามทำนองคลองธรรมก็ได้ ซึ่งข้อนี้แม้จะเป็นข้อสุดท้ายแต่ก็สำคัญยิ่ง เพราะไม่ว่าจะทำบุญใดทั้ง 9 ข้อที่กล่าวมา หากมิได้ตั้งอยู่ในทำนองคลองธรรม การทำบุญนั้นก็ไม่บริสุทธิ์ และให้ผลได้ไม่เต็มที่ ดังจะได้กล่าวถึงเกณฑ์การวัดบุญต่อไป
สำหรับการทำบุญ ที่จะให้ได้ผลบุญมากหรือน้อยนั้น มีหลักเกณฑ์อยู่ 3 ประการคือ 
1.ผู้รับ จะต้องเป็นผู้มีศีล มีคุณธรรมความดี แต่ไม่จำเป็นจะต้องเป็นพระสงฆ์ หรือนักบวช จะเป็นคนทั่วไปก็ได้ ถ้าผู้รับดี ผู้ทำก็ได้บุญมาก หากผู้รับไม่ดี ก็อาจจะทำให้เราได้บุญน้อย เพราะเขาอาจอาศัยผลบุญของเรา ไปทำชั่วได้ เช่น ให้เงินช่วยเหลือเพื่อนๆ กลับเอาไปปล่อยกู้ สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น  เป็นต้น
2.วัตถุสิ่งของที่ให้ต้องบริสุทธิ์หรือได้มาโดยสุจริต เป็นของที่เหมาะและมีประโยชน์ต่อผู้รับ เช่น ให้เสื้อผ้าของเล่นแก่เด็กกำพร้า เป็นต้น ของที่ให้ดีผู้ทำก็ได้บุญมาก หากได้มาโดยทุจริต แม้จะเอาไปทำบุญก็ได้บุญน้อย
3.ผู้ให้ ต้องมีศีลมีธรรมและมีเจตนาที่เป็นบุญกุศลในการทำ จึงจะได้บุญมาก นอกจากนี้ เจตนาหรือจิตใจในขณะทำบุญ ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญกล่าวคือ ก่อนให้ ขณะให้ และหลังให้ หากผู้ให้มีความตั้งใจดี  ตั้งใจทำ  เมื่อทำแล้วก็เบิกบานใจ คิดถึงบุญกุศลที่ได้ทำเมื่อใด จิตใจก็ผ่องใสเมื่อนั้น เช่นนี้ก็จะทำให้ผู้ทำได้บุญมาก ถ้าไม่รู้สึกเช่นนั้น บุญก็ลดน้อยถอยลงตามเจตนา

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า ใครก็ตามแม้จะไม่มีโอกาส ให้ทานอันเป็นการทำบุญที่ง่าย และเป็นรูปธรรมที่สุด แต่เราทุกคนก็สามารถเลือกทำบุญในลักษณะอื่นๆ ได้อีกถึง 9 วิธี และเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก เช่น การอ่อนน้อมถ่อมตน การช่วยเหลือแนะนำน้องๆ ที่ทำงาน การไม่ถือทิฐิหรือดื้อหัวชนฝา การร่วมยินดีกับการทำบุญของเพื่อน เป็นต้น เพียงแค่นี้ก็เห็นผลทันตาแล้ว คือ ความอ่อนน้อมถ่อมตน ทำให้ผู้ใหญ่เมตตาต่อเรา การช่วยเหลือเพื่อนฝูงทำให้ไปไหนเพื่อนๆ ก็รักใคร่ ยินดีต้อนรับ  ดังนั้น เริ่มต้นทำ บุญเมื่อใด บุญก็ส่งให้เห็น ผลเ มื่อนั้น

***สาระส่วนหนึ่งนำมาจากหนังสือ ฉลาดทำบุญโดยเครือข่ายชาวพุทธเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคมไทย

ขอขอบคุณข้อมูลข่าว : อมรรัตน์ เทพกำปนาท กลุ่มประชาสัมพันธ์  สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม